โครงการยุวชลกร ประจำปีงบประมาณ 2563

มีคำกล่าวไว้ว่า "พัฒนาการทางความรู้และความคิดไม่มีวันสิ้นสุด" 

สถาบันพัฒนาการชลประทาน จับมือกับ กองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน เลือกที่จะพัฒนาเยาวชน 

โดยเฉพาะ เยาวชนที่ได้รับบริการของกรมชลประทาน นั่นคือ บุตรของเกษตรกร ให้มีความรู้ความเข้าใจในภารกิจของกรมชลประทาน สร้างพวกเขาเหล่านั้นให้เป็น "ยุวชลกร" 

และหากเยาวชนเหล่านั้นมีความสนใจ สามารถที่จะเลือกศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี หลักสูตร วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา - ชลประทาน 

ณ วิทยาลัยการชลประทาน กรมชลประทาน สถาบันสมทบมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผ่านระบบ TCAS รอบ 2 ภายใต้โครงการเมล็ดพันธุ์สู่ศาสตร์แห่งแผ่นดิน รับทุนการศึกษาตลอด 4 ปี 

ซึ่งพร้อมจะเป็น "ชลกร" ร่วมทำงานกับกรมชลประทานเพื่อแผ่นดินไทยได้อีกด้วย สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 นี้ เป็นการจัดเป็นปีที่ 2 แล้ว เดินทาง 5 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี กาญจนบุรี ลำปาง ขอนแก่น และสงขลา ตลอดเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2562 

โดยความช่วยเหลือจากสำนักงานชลประทาน สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง และโครงการชลประทานในการเฟ้นหาและดูแลรับส่งเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมจากทั่วประเทศ 

สามารถสร้างเครือข่ายเยาวชนยุวชลกรได้กว่า 200 คน ภายใน 2 ปี และปัจจุบันมีบุตรเกษตรกรกำลังศึกษาที่วิทยาลัยการชลประทานรวม 15 คนแล้ว


กิจกรรมนี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ กิจกรรมตามภารกิจหลักของสถาบันพัฒนาการชลประทานในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการชลประทาน

ให้ทั้งบุคลากรภายในและภายนอกกรมชลประทานที่เป็นผู้รับบริการของกรมชลประทาน โดยประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิศวกรรมชลประทานออกแบบกิจกรรม

ให้สามารถนำความรู้ด้านวิศวกรรมโยธา-ชลประทานสอดแรกผ่านกิจกรรมสันทนาการให้สามารถเข้าถึงกลุ่มนักเรียนนักศึกษาเยาวชน เช่น ใช้เส้นสปาเก็ตตี้เพื่อทำโครงสร้างอาคารรับแรงแผ่นดินไหว 

ใช้กระดาษแข็งและลูกปิงปองเพื่อทำคลองส่งน้ำเปิด ใช้เลโก้เพื่อฝึกการมองภาพ Perspective ของการเขียนแบบ เป็นต้น

ในระยะไม่กี่ปีจากนี้ กลุ่มยุวชลกรซึ่งเป็นบุตรเกษตรกรจะได้รับการพัฒนาให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา-ชลประทาน 

สามารถทำงานกับกรมชลประทาน ซึ่งสถาบันพัฒนาการชลประทานพร้อมจะพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ที่จำเป็นเพื่อมุ่งสู่องค์กรอัจฉริยะตามแนวทาง RID No. 1 และยุทธศาสตร์ 20 ปี กรมชลประทาน ต่อไป